วันจันทร์ที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

โรคเสพติดสังคมออนไลน์ระบาดหนัก ไทยติดหง่อม 11 ล้านคน



โรคเสพติดสังคมออนไลน์ระบาดหนัก ไทยติดหง่อม 11 ล้านคน


เป็นเรื่องที่ต้องตระหนักคิดให้ถี่ถ้วนมากขึ้นเสียแล้ว เมื่อRetrevo Gadgetology Report บริษัทวิจัยสัญชาติสหรัฐ เผยผลสำรวจพฤติกรรมผู้คนที่มีต่อเว็บไซต์เครือข่ายสังคมออนไลน์สุดฮิตอย่าง เฟซบุ๊ก (Facebook), ทวิตเตอร์ (twitter), มายสเปซ (Myspace) และอื่นๆจากกลุ่มตัวอย่าง 1,000 คนเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมาพบว่าชีวิตของผู้คน "ผูกติด" อยู่กับ "สังคมบนโลกออนไลน์" อย่างน่าตกใจ โดยเจ้าโลกสมมติเหล่านี้เข้ามามีบทบาทในชีวิตทั้งในการทำงาน โลกส่วนตัว หรือแม้แต่การพักผ่อน
โดยเกือบ 50% จาก 1,000 คนระบุชัดว่า เข้าเช็กข้อความ ความเคลื่อนไหวบนเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์ช่วงตื่นตอนเช้าและบนเตียงก่อนเข้านอนหรือเข้าเช็กสถานะในเฟซบุ๊กของตนอย่างน้อยวันละ 1 ครั้ง และอีก 16% เผยว่าได้รับข้อมูลข่าวสารประจำวันจากเว็บไซต์เหล่านี้ ยังไม่รวมถึงอีก 10% ที่ต้องล็อกอินเข้าไปดูความเคลื่อนไหวล่าสุดทุกๆ2-3 ชั่วโมง

หนักยิ่งกว่าคือ 1 ใน 3 บอกกว่า แม้ขณะกำลังรับประทานอาหารอยู่ก็ยังกดดูข้อความทั้งในโทรศัพท์ แท็บเล็ต หรือหน้าจอคอมพิวเตอร์ ส่วนกรณีหนักที่สุดคือ 1 ใน 14 จากกลุ่มตัวอย่าง 1,000 คน เข้าไปดูข้อความแม้กำลังทำกิจกรรมทางเพศ!!! ซึ่งตัวเลขเหล่านี้โดยมากอยู่ในกลุ่มอายุที่ต่ำกว่า 25 ปี
ไม่ต่างจากพฤติกรรมของ "คนไทย" ที่ "เสพติด" สังคมออนไลน์ จนบางคนมีชีวิตในโลกสมมติมากกว่าโลกแห่งความเป็นจริงเสียอีก
สถิติที่น่าสนใจเกี่ยวกับการเล่นเฟซบุ๊กของคนไทยจากเว็บไซต์ www.computerlogy.com  แจ้งให้ทราบกันถ้วนหน้าว่า ในปี 2554 ที่ผ่านมา มีคนไทยกว่า 11,128,080 คน หรือกว่า 17% จากทั้งหมดทั่วประเทศ 65.4 ล้านคน (ข้อมูลปี 2553 จากสำนักงานสถิติแห่งชาติ) เล่นเฟซบุ๊ก แบ่งเป็นผู้หญิง 5,805,820 คน หรือคิดเป็น 52.17% ขณะที่ผู้ชายไทยเล่นเฟซบุ๊ก 5,265,640 คน หรือคิดเป็น 47.31%
เมื่อจัดอันดับจังหวัดที่เล่นเฟซบุ๊กมากที่สุดกรุงเทพฯ มาวิน ขึ้นแท่นเป็นอันดับ 1 มีคนเล่นเฟซบุ๊ก มากถึง 9,687,420 คน หรือ 87.05% รองลงมาเป็น จ.นนทบุรี มีคนเล่นเฟซบุ๊ก 482,600 คน หรือ 4.33% และ จ.เชียงใหม่ มีคนเล่นเฟซบุ๊ก 97,960 คน หรือ 0.88% และเมื่อจัดเป็นรายช่วงอายุพบว่าช่วงอายุ 26-45 เป็นกลุ่มคนที่มีการใช้เฟซบุ๊กมากที่สุดเกือบ 7 ล้านคน รองลงมาเป็น กลุ่มอายุ 18-25 ปี จากนั้นเป็นกลุ่ม 13-17 ปี ส่วนกลุ่มอายุ 46-64 มีการใช้สื่อสังคมออนไลน์น้อยที่สุดกว่า9 แสนคน
ทั้งนี้ หากแบ่งการใช้ตามลักษณะเพศแล้ว มองดูเผินๆ อาจไม่น่าสนใจเพราะเป็นไปตามคาดว่า กลุ่มคนโสดทั้งหญิงและชายมีการใช้เฟซบุ๊กมากที่สุด โดยมีจำนวนมากกว่า 50%
แต่หากศึกษาลงลึกลงไปกลับพบนัยยะสำคัญบางอย่างว่า กลุ่มที่กำลังคบกันมีสถิติการเล่นเฟซบุ๊กที่สูงไม่น้อย โดยในผู้หญิงคิดเป็น 22.64% ผู้ชาย 25.33% และในกลุ่มที่แต่งงานแล้วก็นิยมใช้เฟซบุ๊กมากรองลงมา โดยในผู้หญิงมี 16.36% ผู้ชาย 15.77% ทว่าในกลุ่มที่กำลังหมั้นหมายนั้นกลับเล่นเฟซบุ๊ก น้อยที่สุด ในผู้หญิงมีเพียง 7.29% และในผู้ชาย 7.18%
มีข้อมูลระบุเพิ่มด้วยว่า พฤติกรรมของคนส่วนมากที่คลิกตัวตนเข้าสู่ระบบโซเชียลเน็ตเวิร์ก 33.53% จะเข้าไปพูดคุยกับเพื่อนหรือคนรู้จัก32.34% เข้าไปเพื่ออัพเดตข้อมูลข่าวสาร อีก 11.98% ตอบความคิดเห็นต่างๆ 11.38% เล่นเกม 6.59% ใช้ทำธุระอื่นๆและอีก 4.19% ใช้อัพโหลดรูป
อย่างไรก็ตาม พระเมธีธรรมาจารย์ รองอธิการบดีฝ่ายประชาสัมพันธ์และเผยแผ่ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร.) ในฐานะผู้นำเอาข้อมูลจาก computerlogy ขึ้นมาถกในงานสัมมนาวิชาการ "สงฆ์กับสังคมออนไลน์" ที่นิสิตคฤหัสถ์ปริญญาโทภาคพิเศษ รุ่นที่ 24 มจร. จัดขึ้นเมื่อเร็วๆนี้ ได้สรุปภาพรวมถึงความน่าตระหนกของการเสพติดสื่อออนไลน์ของไทยไว้ว่าจำนวนผู้ใช้งานมีเพิ่มมากขึ้นทุกปี แต่ผู้ใช้บริการกลับมีอายุต่ำลงเรื่อยๆอีกทั้งยังเข้าถึงได้ง่าย ราคาไม่แพง และไม่จำกัดสิทธิ์ในการเข้าใช้ พร้อมยังเป็นช่องทางการเผยแพร่กระจายข่าวสารได้รวดเร็วในแบบควบคุมได้ยาก
"แม้ว่าโลกออนไลน์และระบบโซเชียลเน็ตเวิร์กจะมีคุณประโยชน์นานัปการ แต่ก็มีข้อเสียไม่น้อย หลายคนป่วยเป็นโรคเสพติดอินเทอร์เน็ตไม่รู้ตัว ซึ่งยังไม่รวมถึงเรื่องการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล โดนหลอกลวง ละเมิดลิขสิทธิ์ ขโมยหรือแอบอ้างผลงานผู้อื่นกระทั่งการสร้างค่านิยมทางวัฒนธรรมที่ผิดบิดเบี้ยว"
รองอธิการบดีฝ่ายประชาสัมพันธ์และเผยแผ่ มจร. ยังกล่าวถึงอาการของคนเป็นโรคเสพติดอินเทอร์เน็ตไว้ให้สังเกตตัวเองกันด้วยว่า สมาคมจิตแพทย์อเมริกันทำการวินิจฉัยโรคทางจิตเวชในกรณีเสพติดอินเทอร์เน็ต โดยระบุว่า คนที่เข้าไปอยู่ในโลกสมมติมากขึ้น ส่วนมากมีสาเหตุมาจากความผิดปกติด้านอารมณ์ เช่น ซึมเศร้า เครียด ย้ำคิดย้ำทำ และวิตกกังวล หรืออาจจะพบได้ในกลุ่มคนที่มีลักษณะครึกครื้นตลอดเวลา
ส่วนพฤติกรรมที่บ่งบอกว่าเป็นโรคเสพติดสังคมออนไลน์ ประกอบด้วย
1.ใช้เวลาในการเล่นอินเทอร์เน็ตมากขึ้น
2.เมื่อไม่ได้เล่นแล้วมือจะสั่นเกิดความวิตกกังวล ย้ำคิดย้ำทำ ในความฝันมีการขยับมือเหมือนใช้แป้นพิมพ์ตลอด
3.ไม่สามารถเลิกเล่นได้
และ 4.ไม่มีเวลาทำกิจกรรมอื่นหรือการปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นลดลงเป็นต้น
ทางแก้ไขเบื้องต้นของปัญหาดังกล่าว พระพรหมคุณาภรณ์ ชี้แนะไว้ว่า คนใช้โซเชียลเน็ตเวิร์กต้องเป็นพวกรู้ทัน คือนอกจากจะตามทันแล้ว ยังต้องรู้ทัน เข้าใจเท่าทันด้วยว่ามีความเป็นมาอย่างไร มีคุณมีโทษอย่างไร จะใช้โซเชียลเน็ตเวิร์กอย่างไรไม่ให้ถูกครอบงำ แต่ถ้าจะให้ดีที่สุดต้องทำตัวให้เป็นคนที่อยู่เหนือกว่า หรืออยู่เหนือกระแส จึงจะไม่ตกเป็นเหยื่อหรือเป็นโรคเสพติดอินเทอร์เน็ตได้และยังสามารถทำตัวเองให้เป็นผู้มีการเปลี่ยนแปลง มีความสัมพันธ์กับข่าวสารข้อมูลอย่างเป็นนาย เป็นผู้จัดการ เป็นผู้ใช้อย่างแท้จริง
"หากทำตนเป็นกลุ่มคนในแบบพวกตื่นเต้นรู้สึกว่าตัวเองทันสมัย เสพข่าวสารแปลกๆ ใหม่ๆ อยู่ตลอด แต่กลับสัมผัสข่าวสารต่างๆ อย่างผิวเผิน หรือที่เรียกได้ว่าตกอยู่ในกระแส ก็จะไม่เป็นตัวของตัวเอง หรือทำตนเป็นพวกตามทัน ภูมิใจว่าตนเองเก่ง ข่าวเกิดที่ไหนเป็นอย่างไร รู้หมด แต่เป็นการตามทันแต่ไม่รู้ทัน ไม่เข้าถึงความจริง จุดนี้น่ากลัวว่าจะเป็นโรคเสพติดอินเทอร์เน็ต หมดอนาคตได้ง่าย"




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น